โครงการ "Easy E-Receipt" คืออะไร
โครงการ "Easy E-Receipt" (เดิม e-Refund) ของกรมสรรพากร เป็นโครงการกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการ มีวัตถุประสงค์เป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษี โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
ระยะเวลาโครงการ "Easy E-Receipt” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และลดหย่อนภาษีได้สูงสุด มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยนำไปยื่นภาษีช่วงต้นปี 2568 มี 2 ช่องทาง ดังนี้
- ยื่นภาษีในรูปแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2568
- ยื่นภาษีในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2568
ภาพจาก กระทรวงการคลัง
เงื่อนไขสำหรับการใช้จ่าย (ลูกค้า)
- ต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT (หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แบบเล่ม E-book และสินค้า OTOP แม้ไม่ได้มีการจดทะเบียน VAT แต่สามารถนำมาลดหย่อนได้)
- ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริง จำนวนไม่เกิน 50,000 บาท
- ใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoince) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
สินค้าและบริการที่ยกเว้น ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- สุรา เบียร์ และไวน์
- ยาสูบ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้ตามลิงค์นี้
– e-Tax Invoice & e-Receipt ลิงค์ https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered#top
– e-Tax Invoice by Time Stamp ลิงค์ https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php
เงื่อนไขสำหรับร้านค้า
สำหรับโครงการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ร้านค้าหรือผู้ประกอบการ จะต้องได้รับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง และจะต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้ลูกค้านำไปใช้ยื่นรับสิทธิลดหย่อนภาษีได้
วิธีทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ E-Tax Invoice และ E-Receipt
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
วิธีการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางที่กำหนด หรือใช้วิธีการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ด้วยวิธีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ส่งผ่านทางอีเมลให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเลือกเข้าสู่ระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น
ผู้ประกอบการเลือกจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2 วิธี
1. ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ (ไม่จำกัดรายได้) จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร
2. ระบบ e-Tax invoice by Email
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีรายได้ ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี จัดทำเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ส่งอีเมลถึงผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ พร้อมสำเนา CC ไปยังระบบกลาง เพื่อการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ซึ่งระบบจะนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ
ขั้นตอนการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
- ผู้ประกอบการจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority: CA) ที่มีความน่าเชื่อถือ ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ แห่งชาติ (Thailand National Root Certification Authority หรือ Thailand NRCA) สำนักงาน พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
- ลงทะเบียนผ่านโปรแกรมลงทะเบียนและตรวจสอบลายมือชื่อดิจิทัล (Ultimate Sign & Viewer)
- จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล ส่งมอบแก่ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
- จัดทำข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ XML File (ขมธอ.3-2560) และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ผ่านช่องทางอัปโหลด (Upload) หรือ Host to Host หรือผ่านผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (การนำส่งวิธี Host to Host และผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด)
- ติดตามและตรวจสอบผลการนำส่งข้อมูล ที่ระบบ Tracking
- จัดเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด
โดยสรุป นโยบาย “Easy E-Receipt” เพื่อลดหย่อนภาษีมีระยะเวลาโครงการสำหรับการซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าหรือธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่ารวมสูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยนำไปยื่นภาษีช่วงต้นปี 2568 มี 2 ช่องทาง คือ (1.) ยื่นภาษีในรูปแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2568 (2.) ยื่นภาษีในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2568
ขอบพระคุณข้อมูลอ้างอิง :
กรมสรรพกร, เดลินิวส์, Thaiger News, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ ทดลองใช้ระบบรวมแชทบน Zaapi ฟรี 7 วัน คลิกเลย
{{cta-button="/cms-injection-content"}}
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Zaapi
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานฟีเจอร์ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทาง
- LINE OA: @zaapi
- Facebook Page: Zaapi Thailand
- Tel: 096-927-1729
Chat, Sell, Scale - The All-in-One Conversation and Commerce Hub